วิธีการจัดการกับยาเหลือใช้

4

“ยาเหลือใช้” นับเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนจากการใช้ยาหลายคนอาจสงสัยว่า “ยาเหลือใช้” คืออะไร? หน้าตาเป็นอย่างไร? ยาเหลือใช้มาจากไหน? ยาที่กำลังรับประทานอยู่เป็นยาเหลือใช้หรือไม่? และยาเหลือใช้มีอันตรายอย่างไร? ซึ่งคำตอบเหล่านี้จะหมดไปทันทีเมื่ออ่านบทความนี้จนถึงบรรทัดสุดท้าย

“ยาเหลือใช้” คืออะไร?

ยาเหลือใช้ คือ ยาที่ไม่ได้ใช้แล้ว ยาเหลือใช้อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น หยุดใช้ยา ยาที่ผู้ป่วยเคยใช้มาก่อนแต่ใช้ไม่ครบตามแพทย์สั่ง เป็นต้น ทำให้มียาเหลือเก็บไว้ที่บ้านโดยไม่ได้ใช้งาน หรือเป็นยาเหลือใช้จากการปรับเปลี่ยนยาในการรักษา เป็นต้น ยาเหลือใช้ที่อยู่ในสภาพดีสามารถนำกลับมาใช้ได้อีก แต่หากเก็บรักษาไม่ดีหรือเก็บไว้นานเกินไปยาเหลือใช้เหล่านั้นอาจจะเสื่อมสภาพหรือหมดอายุได้ ดังนั้นหากนำยาเหล่านี้มาใช้จะทำให้รักษาโรคไม่หายหรือได้รับอันตรายจากยาที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุได้

ทำอย่างไรเมื่อมียาเหลือ

หลังจากที่เราทราบแล้วว่าเรามี “ยาเหลือใช้” อยู่มากน้อยแค่ไหน วิธีการปฏิบัติตัวในลำดับต่อมา คือ การจัดการกับยาเหลือใช้ที่มีอยู่อย่างถูกต้องด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

1.พบเภสัชกร

เภสัชกรคือผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับยาดีที่สุด ดังนั้นการขอรับคำปรึกษาจากเภสัชกรใกล้บ้านจึงเป็นวิธีที่ดี สะดวก และปลอดภัยที่สุดก่อนนำมาใช้

2.การบริจาคยากับเภสัชกร / แพทย์

ในกรณีที่ “ยาเหลือใช้” ยังไม่หมดอายุ อาจทำการบริจาคให้แก่เภสัชกรหรือแพทย์เพื่อนำยาเหล่านั้นไปมอบให้แก่ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาแต่ขาดแคลนกำลังทรัพย์ได้ ซึ่งถือเป็นการทำบุญในอีกทางหนึ่งด้วย

3.การใช้ยาเก่าก่อนยาใหม่

ในกรณีที่มียาเหลือใช้เป็นจำนวนมากและเรายังจำเป็นต้องรับประทานยานั้นอยู่ สิ่งที่ควรทำ คือ สำรวจวันหมดอายุของยาที่มีทั้งหมดและรับประทานยาที่ใกล้หมดอายุก่อน

4.การกำจัดยาเหลือใช้อย่างถูกต้อง

สิ่งที่ควรปฏิบัติก่อนการทิ้ง “ยาเหลือใช้” คือ การทำให้ยาเหล่านั้นเสียสภาพก่อนหรือทำให้ไม่สามารถนำมาใช้ต่อได้อีก เช่น ยาเม็ดหรือแคปซูลควรที่จะทำการบดให้แตกละเอียดก่อนจากนั้นจึงทำการคลุกกับสารที่ไม่ต้องการ เช่น ขี้เถ้า ดิน แล้วห่อด้วยถุงพลาสติกอีกชั้นหนึ่งแล้วนำไปทิ้งถังขยะ หรือยาน้ำควรเทยาออกจากขวดให้หมดโดยอาจคลุกยากับสารที่ไม่ต้องการและห่ออีกชั้นก่อนนำไปทิ้ง

ยาเหลือใช้นั้นเกิดจากหลายสาเหตุ ก่อนจะนำมาใช้ควรดูวันหมดอายุ หรือควรปรึกษาเภสัชกรเสียก่อน สามารถนำไปบริจาคได้ และหากหมดอายุควรทำลายทิ้งอย่างถูกวิธี